ข้อมูลหมอดินอาสา

นิยาม บทบาท และภารกิจของหมอดินอาสา
หมอดิน มีความหมาย 2 นัย
นัยแรก คือผู้รอบรู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านดิน การจัดการดินและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับดิน เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากดินและที่ดินในการเกษตรเป็นไปอย่างยั่งยืนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นัยที่ 2 คือ ผู้รักษา เพราะที่ผ่านมาเราใช้ดินและที่ดินอย่างประมาท ขาดการระมัดระวัง ปัจจุบันทั้งสภาพทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของดิน(สุขภาพของดิน) จึงเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก บางแห่งถึงขั้นวิกฤติที่เรียกว่า ”ดินป่วย” ไม่สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างคุ้มค่า หมอดินต้องทำหน้าที่รักษา (ปรับปรุง) ให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ดีดังเดิม หรือหมั่นคอยดูแลรักษา (อนุรักษ์) ดินที่อุดมสมบูรณ์ (สุขภาพดี) ให้คงความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป
นิยามหมอดิน - หมอดินอาสา
1. หมอดิน คือ เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดินที่ทำงานช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ เป็นภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่และกรมพัฒนาที่ดินที่บ่งบอกลักษณะงานของกรมพัฒนาที่ดิน ที่ทำงานแตกต่างจากหน่วยงานการเกษตรและหน่วยงานที่ลงท้ายว่า ดิน หรือ ที่ดิน
2. หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน คือ เกษตรกรที่สนใจในงานพัฒนาที่ดินและอาสาที่จะเป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดินประจำหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการคัดเลือก/แต่งตั้งให้เป็นหมอดินอาสาหมู่บ้านละ 1 คน และเป็นสมาชิกในเครือข่ายหมอดินอาสาประจำตำบล
3. หมอดินอาสาประจำตำบล คือ หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกจากหมอดินอาสาประจำหมู่บ้านด้วยกัน หรือแต่งตั้งโดยเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อเป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดินประจำตำบล และเป็นแกนนำบริหารเครือข่ายหมอดินอาสาในระดับตำบล ปฏิบัติงานร่วมกับสมาชิกหมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
หมายเหตุ หมอดินอาสาประจำอำเภอ และหมอดินอาสาประจำจังหวัด คือ หมอดินอาสาประจำตำบลที่ได้รับการคัดเลือกจากหมอดินอาสาประจำตำบลด้วยกัน หรือแต่งตั้งโดยเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อเป็นตัวแทนของ กรมพัฒนาที่ดินประจำอำเภอ และประจำจังหวัด เป็นแกนนำบริหารเครือข่ายหมอดินอาสาในระดับต่างๆ


บทบาท/ภารกิจของหมอดินอาสา
1. เป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นแกนนำและประสานงานระหว่างเกษตรกรในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ กรมพัฒนาที่ดิน(หมอดิน) หมอดินอาสาระดับต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการร่วมประชุม รับ-แจ้งข่าวสารให้แก่เกษตรกรและหน่วยงานในเขตรับผิดชอบ เช่น ร่วมประชุม/จัดทำแผนฯ นัดหมายมารับการฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ รับบริการวิเคราะห์ดิน แจกจ่ายปัจจัย/วัสดุปรับปรุงดิน สารเร่งจุลินทรีย์ (พด.ต่างๆ) ปุ๋ยอินทรีย์น้ำพร้อมใช้ เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด กล้าหญ้าแฝก แจกเอกสารแผ่นพับ ติดโปสเตอร์หรือนำเทป (วิชาการ) ออกรายการในหอกระจายข่าว ฯลฯ
2. เป็นผู้ร่วมดำเนินกิจกรรมการพัฒนาที่ดินที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่(หมอดิน) หรือหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เช่น การให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ คาราวานแก้จน หมอดินเคลื่อนที่ ร่วมจัดทำเวทีชุมชน ร่วมรณรงค์ส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพชนิดต่าง ๆ การผลิตและปลูกหญ้าแฝก รวมทั้งการจัดทำแปลงสาธิตต่าง ๆ
3. เป็นผู้ให้คำแนะนำ เผยแพร่ความรู้ ประชาสัมพันธ์ และชักชวนเพื่อนบ้านไปศึกษาดูงาน ณ แปลงสาธิตจุดเรียนรู้และศูนย์บริการงานพัฒนาที่ดินประจำตำบล หรือสถานที่ที่น่าสนใจ บริการข่าวสารความรู้เทคโนโลยีการเกษตรใหม่ ๆ และข่าวสารความเคลื่อนไหว กิจกรรมในเครือข่ายหมอดินอาสา หรือ กรมพัฒนาที่ดิน
4. เป็นผู้รวบรวมปัญหาความต้องการด้านปัจจัยหรือวัสดุการเกษตร เช่น สารเร่ง พด.1 - พด.10 กล้าหญ้าแฝก เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด แหล่งน้ำ ของเกษตรกรในพื้นที่ ตามแบบฟอร์มของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อรวบรวมให้หมอดินประจำสถานีพัฒนาที่ดินดำเนินการต่อไป กรมพัฒนาที่ดินมีการกำหนดให้หมอดินอาสาประจำหมู่บ้านชักนำให้เกษตรกรในหมู่บ้าน ร้อยละ 50 หรือ อย่างน้อยประมาณ 40 คน/หมู่บ้าน ได้มีการนำวัสดุการเกษตรต่าง ๆ เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์


รายชื่อหมอดินอาสาประจำจังหวัด
รายชื่อหมอดินอาสาประจำอำเภอ
รายชื่อหมอดินอาสาประจำตำบลและยุวหมอดิน